จากตอนที่แล้วที่เขียนถึงน้ำยาบ้วนปากเอาไว้ ด้วยความที่เขียนเพลินไปหน่อย มารู้ตัวอีกทีก็เขียนยาวเฟื้อยซะแล้ว เลยขอแบ่งออกมาเป็น 2 Part ก็แล้วกันนะคะ จะได้ไม่รู้สึกว่ายาวเกินไป เดี๋ยวจะขี้เกียจอ่านกันซะก่อน และสำหรับ part นี้ ก็จะมาเล่าต่อเนื่องจาก part ก่อน ที่เราได้พูดถึงน้ำยาบ้วนปากแต่ละประเภทและคนที่ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก ว่าแบบไหนใครควรใช้ ทำไม อย่างไรกันไปเรียบร้อย ทีนี้จะมาพูดถึง “ความถี่” ในการใช้งานบ้างค่ะ
อย่างที่เคยบอกไปนะคะว่า ถ้าเรามีวินัยในการดูแลสุขภาพปากและฟัน แปรงฟันถูกวิธี มีฟันที่แข็งแรง การใช้น้ำยาบ้วนปากนั้นแทบจะไม่จำเป็นเลยค่ะ แต่ถ้าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นว่า กำลังฟันผุ เหงือกบวม เหงือกอักเสบ กลิ่นปาก การใช้น้ำยาบ้วนปากก็ถือว่าเหมาะสม แต่ว่า เราจะจะรู้ได้อย่างไรว่า น้ำยาบ้วนปากเนี่ย ใช้เท่าไรถึงจะดี ต้องอมไว้นานแค่ไหน วันนึงใช้บ่อยเท่าไร อะไร ยังไง ถึงจะได้ผลดีที่สุดล่ะ?
ใน 1 วัน เราควรใช้น้ำยาบ้วนปากกี่ครั้ง ครั้งนึงต้องบ้วนปากนานเท่าไร ถึงจะได้ผลดี ?
ถ้าอ่านตามฉลากด้านข้างของน้ำยาบ้วนปาก เราจะพบว่ามีการเขียนข้อบ่งใช้ผลิตภัณฑ์เอาไว้ค่อนข้างละเอียด โดยทั่วๆ ไปพอจับใจความได้คือ
- ชื่อยี่ห้อของน้ำยาบ้วนปาก พร้อมบอกด้วยว่ามีแอลกอฮอล์หรือไม่
- คุณสมบัติ สรรพคุณของน้ำยาบ้วนปากนั้นๆ
- วิธีการใช้งาน และระยะเวลาที่ต้องกลั้วปาก ซึ่งโดยส่วนมากจะระบุไว้ว่า ใช้วันละ 2 ครั้งหลังการแปรงฟันทุกวัน ในปริมาณ 20 ml. หรือตามขีดตวงของฝาขวดน้ำยาบ้วนปาก แล้วกลั้วปากไว้อย่างน้อย 30 วินาที ก่อนบ้วนทิ้ง
- คำเตือน เช่น ห้ามกลืน ต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก และห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
- ส่วนผสมของน้ำยาบ้วนปาก
- จริงๆ แล้วถ้าเราอ่านฉลากอย่างถี่ถ้วน คำถามข้างต้นที่ถามว่าใน 1 วัน ต้องบ้วนปากกี่ครั้ง และต้องกลั้วปากนานเท่าไรถึงจะดี ไม่ต้องไปหาคำตอบที่ไหนไกลค่ะ ใกล้ๆ แค่ฉลากข้างขวดนี่เอง
น้ำยาบ้วนปาก กับคำถามน่าสงสัย อะไร ยังไง ทำไม ?
คนท้องใช้น้ำยาบ้วนปากได้หรือไม่ ?
คำถามใกล้ตัวของว่าที่คุณแม่ ที่หมออยากให้เอะใจกันนิดนึง เพราะเรื่องธรรมดาๆ ง่ายๆ อย่างการใช้น้ำยาบ้วนปากเนี่ย ถ้าคุณแม่ไม่ระวังจะมีส่งผลเสียต่อลูกน้อยอย่างแน่นอนค่ะ เพราะหากไม่มีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากในช่วงนี้ ควรงดใช้น้ำยาบ้วนปากไปเลย แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องใช้ ควรเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
เพราะถึงเราจะไมได้กลืนน้ำยาบ้วนปากลงไปตรงๆ เพียงแค่บ้วนแล้วทิ้ง แต่โอกาสที่ทารกในครรภ์จะรับแอลกอฮอล์ต่อจากเรามีสูงถึง 9-14% เลยทีเดียว สาเหตุที่อยากให้คุณแม่เลี่ยงการบ้วนปากในช่วงที่ตั้งครรภ์ก็เพราะ “แอลกอฮอล์” นี่แหละค่ะ
เพราะว่าแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมไปถึงระบบของสมองและประสาทอีกด้วย รู้แบบนี้ก็เลี่ยงๆ ไว้ดีกว่า ถ้าจะใช้ ก็ใช้น้ำยาบ้วนปากสูตรไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ถ้าที่ฉลากเขียนเอาไว้ว่า cetylpyridinium chloride, xylitol ใช้ได้นะคะ ปลอดภัยค่ะ
ถ้าเผลอกลืนน้ำยาบ้วนปาก จะอันตรายไหม?
อันตรายแน่นอนค่ะ!!! โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่อายุยังไม่ถึง 6 ขวบ คือพฤติกรรมทั่วไปของเด็กในวัยนี้เขาจะไม่ชอบบ้วนน้ำยาออกมา แต่ชอบกลืนลงท้องไปเลย (สงสัยอร่อย ?) อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น่ารัก ซนๆ ใสๆ ของเด็กโดยเด็ดขาด เพราะการที่เด็กในวัยนี้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปจะส่งผลข้างเคียงกับเด็กหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน
แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หากเผลอกลืนลงไปนิดหน่อย ไม่กี่ครั้ง ไม่อันตราย
น้ำยาบ้วนปาก ใช้นานๆ อันตรายหรือไม่?
ไม่ถึงกับอันตรายแบบน่ากลัวเว่อร์ แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ หรือว่าใช้แทนการแปรงฟันโดยสิ้นเชิง เพราะอย่างที่ย้ำนักย้ำหนาค่ะ ว่าถ้าหากเรามีสุขภาพปากและฟันดีอยู่แล้ว มีวินัยในการรักษาความสะอาด แปรงฟันถูกวิธี ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าฟันจะผุง่าย ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะใช้น้ำยาบ้วนปาก
อย่าลืมนะคะ การเลือกใช้ทุกอย่างแบบที่คิดว่าต้องทำให้ปากเราสะอาดแน่ๆ มันก็ดีค่ะ เพราะแสดงถึงความใส่ใจ สนใจเกี่ยวกับปากและฟันของตัวเราเอง แต่ใช้บ่อยๆ ถี่ๆ ย้ำๆ จนเกินไปก็ใช่ว่ามันจะดี เพราะแทนที่จะสะอาดหมดจด น้ำยาบ้วนปากจะไปทำลายแบคทีเรีย “ที่ดี” ภายในช่องปากเราให้ตายไปซะก่อน ทีนี้ล่ะก็ ทั้งเชื้อราในช่องปาก ไหนจะตุ่มรับรสบนลิ้นเพี้ยน กินอะไรก็งงๆ ไปไหมด ไม่อร่อย รับรสผิด รวมไปถึงเคลือบผิวฟันตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดหินปูนได้ง่าย ฯลฯ พอจะเห็นภาพลางๆ ไหมคะ ว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากบ่อยเกินไป ทำให้เกิดปัญหาตามมาเป็นพรวนเลย
เพราะฉะนั้นท่องไว้ค่ะ ใช้แต่พอดี จะได้ไม่มีปัญหาเพิ่ม