096-305-0765

ปากเหม็นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น !!!
ตอนเด็กๆ ใครเคยโดนเพื่อนล้อว่าปากเหม็นกันบ้าง ?

แล้วจำความรู้สึกตอนนั้นได้ไหมว่าเป็นยังไง หมอเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย เราจะรู้สึก “อาย”
ถ้าใครที่หัวไว แก้ไขสถานการณ์เก่งหน่อย ก็พอจะหัวเราะกล้อมแกล้มเนียนๆ ไปได้ แต่หมอเข้าใจนะคะ ว่าในใจลึกๆ ไม่มีใครชอบหรอกที่ถูกล้อแบบนี้ มันหมดความมั่นใจไปเลย แถมหลายๆ คนที่โดนล้อหนักเข้า ก็เสียความมั่นใจจนบุคลิกภาพเสียไปด้วยก็มี มันกระทบเยอะในหลายๆ ด้านของคนๆ นั้นเลยล่ะ

พอมาถึงวัยที่เราโตขึ้น “กลิ่นปาก” ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะมาล้อเลียนเฮฮากันแบบเมื่อก่อนแล้ว ลองนึกภาพตามนะคะ ว่าถ้าคนที่เรากำลังคุยอยู่ ไม่ว่าจะเป็น คนที่แอบชอบ, HR ที่กำลังสัมภาษณ์งานของเราอยู่, ลูกค้าที่กำลังจะตกลงเซ็นสัญญาสำคัญๆ เกิดมีกลิ่นปากขึ้นมา เราจะทำยังไง เราจะเลือกแบบไหน ?

  1. เตือนทันที ก็เกรงว่าถ้าไม่ได้สนิทมากพอ หรือถึงจะสนิทกันมาก ก็ยังไม่ค่อยกล้าพูดอยู่ดีนั่นแหละ ถ้าพูดออกไปนี่มีหวังได้วางตัวกันไม่ถูกทั้งคู่ แถมมันก็ออกจะดูผิดกาลเทศะไปหน่อย อารมณ์แบบ…มันใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องนี้ไหมเนี่ย!?!
  2. เก็บเงียบ ไม่กล้าบอกเพราะเกรงใจ ปล่อยให้บทสนทนาดำเนินต่อไปแล้วบอกตัวเองในใจให้ทนๆ เอา คิดว่าส่วนใหญ่คงจะเลือกวิธีนี้นี่แหละ เพราะถึงจะไม่ใช่การแก้ปัญหา(กลิ่นปาก)ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์มันเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่

คือ 2 ตัวเลือกนี้ไม่มีอันไหนดีเลยค่ะ ถ้าเลือกได้ก็ขอไม่เจอดีกว่า แล้วทีนี้ลองมาคิดกันเล่นๆ นะคะ ว่าถ้าเกิดเรากลายเป็นคนที่มีปัญหา “ปากเหม็น” ซะเองล่ะ จะทำยังไง?

ถ้าเรากลายเป็นคนที่มีกลิ่นปากซะเอง ต่อให้ยังไม่ทันจะได้ไปคุยกับใคร ใจมันก็ฝ่อไปหมดแล้วค่ะ ความมั่นใจไม่มีเหลือแล้ว ถ้าเป็นตอนเด็กๆ เต็มที่ก็แค่โดนล้อ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เรื่องของกลิ่นปากนี่พูดกันยากถึงขั้นที่เรียกว่า ต่อให้สนิทกันแค่ไหน มาเตือนก็ยังเคืองเลยค่ะ เพราะฉะนั้น “กลิ่นปาก” ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น จริงๆ นะ

แล้วต้องทำยังไง ถึงจะไม่มีกลิ่นปาก ?

ในวันๆ หนึ่ง เคยสังเกตตัวเองกันไหมคะ ว่าเราดูแลปากและฟันของตัวเองยังไงกันบ้าง ถ้ายังไม่เคยลองสำรวจตัวเองอย่างจริงจัง เรามาเริ่มสำรวจไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

  1. เราเป็นคนกินเร็วหรือเปล่า? เพราะการเคี้ยวอาหารเร็วเกินไปทำให้อาหารไม่ย่อย และเกิดกลิ่นปากได้
  2. พิสวาทอาหารรสแซ่บ จัดจ้าน เครื่องเทศแบบเข้มถึงใจ เช่น ส้มตำ ยำแหนม กับแกล้มที่พ่วงผักกลิ่นแรงอย่างผักชีลาว ข้าวคลุกกะปิ ฯลฯ อาหารที่มีเครื่องเทศกลิ่นแรง หรือแม้ส่วนผสมเล็กน้อยอย่าง กระเทียม หอมหัวใหญ่ พวกนี้ก็เป็นตัวการของกลิ่นปากได้อย่างดีเลยค่ะ ก่อนเลือกทานอาหารในวันที่มีนัดสำคัญๆ อย่าลืมเช็คนะคะ ว่าอาหารที่เราสั่งมีอะไรที่ฉุนๆ กลิ่นแรงๆ บ้างไหม
  3. ขี้เกียจแปรงฟัน ชอบลืมแปรงฟันอยู่บ่อยๆ
  4. ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ข้อนี้ขอยกให้เป็นแชมป์สาเหตุอาการปากเหม็นเลยค่ะ ถึงขนาดที่บริษัท ซุปเปอร์ดักส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ สำรวจออกมาเรียบร้อยแล้วจากจำนวน 3,000 คน ว่าบุหรี่นี่แหละ แชมป์เปี้ยนเรื่องกลิ่นปากตัวจริง
จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก แต่พฤติกรรมหลักๆ ของคนเราก็วนๆ อยู่ประมาณนี้ค่ะ นี่ยังไม่นับรวมกลิ่นปากที่มาจากโรคต่างๆ ด้วยนะคะ เพราะในหัวข้อนี้ หมออยากให้ทุกคนหันมาสำรวจพฤติกรรมประจำวันของตัวเองกันก่อนว่ามีข้อไหนที่ทำให้เกิดกลิ่นปากหรือเปล่า
ถ้าเช็คดูแล้ว มีข้อไหนสักข้อเดียวที่ตรงกับตัวเอง
แค่ข้อเดียว…ก็ควรจะปฏิวัติตัวเองใหม่ได้เล้วนะ อันนี้พูดจริง!!

แล้วจะทำยังไงดี ถ้ามีกลิ่นปาก ?

เรื่องนี้ง่ายมากเลยค่ะ ถ้าเราเช็คตัวเองเรียบร้อยว่าเรามีเรื่องไหนที่ทำให้ปากเหม็น ก็แค่ทำตัวตรงกันข้ามจากที่เคย ง่ายๆ เท่านี้เอง วิธีการน่ะ หมอบอกเลยว่าไม่อยาก แต่ความใส่ใจและวินัยที่ต้องทำทุกวันนี่สิ ยากกว่าเยอะ

  1. ถ้าเป็นคนกินไว เคี้ยวไว กลืนไว ก็ลดสปีดในการเคี้ยวของตัวเองลงมาหน่อย คือในชีวิตจริงคนเรามันถูกบีบด้วยเวลา ไหนจะพักเที่ยงที่มีแค่ชั่วโมงเดียว ไหนจะต้องรีบไปทำนั่นทำนี่ จะให้มัวมานั่งนับเคี้ยวให้ครบ 30 ครั้งค่อยกลืนก็ดูจะเป็นไปได้ยาก เคี้ยวแบบนี้มีหวังวันๆ ไม่ได้ทำอะไรกันพอดี ดังนั้นหมออยากลองให้ทุกคนค่อยๆ ลองใช้วิธีเคี้ยวให้นานกว่าเดิมทีละนิดๆ อาจจะยังไม่ต้องนับจำนวนการเคี้ยวก็ได้ค่ะ แต่ขอให้ใช้เวลากับมันในนานกว่าเดิมนิดนึง ค่อยๆ ทำให้ตัวเองชินกับการเคี้ยว แล้วเราจะปรับตัวได้เองในที่สุด
  2. ชอบกินอาหารรสจัด ก็ต้องมีตัวช่วยในการดับกลิ่นปาก  หลายๆ คนนิยมอาหารรสจัด ชนิดที่ว่าแซ่บลื้มมมม… แต่รู้ไหมคะว่าอาหารที่แซ่บลื้มมมม..นี่แหละตัวดีเลยที่ทำให้เรามีกลิ่นปาก ถ้ารักที่จะทานอาหารแนวนี้จริงๆ อย่าลืมพกตัวช่วยในการดับกลิ่นปากหลังทานอาหารเสร็จติดกระเป๋าเอาไว้ด้วย ทานเสร็จแล้วก็จะได้มั่นใจว่ายังไงก็ไม่มีกลิ่นปากแน่นอน
  3. ถ้าขี้เกียจแปรงฟัน ก็ทำตัวให้ขยันๆ ซะ มันไม่ยากเลย การดูแลช่องปากขั้นพื้นฐานเราทุกคนรู้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของการแปรงฟันเช้า-เย็น การแปรงลิ้น การใช้น้ำยาบ้วนปาก ใช้ไหมขัดฟัน ไปหาทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ฯลฯ แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ มีใครทำครบบ้าง? ถ้าใครยังทำไม่ครบ ต้องค่อยๆ เริ่มปรับพฤติกรรมการดูแลช่องปากตัวเองใหม่นะคะ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของเราเอง แถมสิ่งที่ได้เพิ่มเติมกลับมาคือ “วินัย” ให้ตัวเองล้วนๆ
  4. ดื่มสุรา สูบบุหรี่ พอเดินทางมาถึงข้อนี้ ถ้าให้เลิกเลยทันทีก็คงยาก แต่เมื่อมองในระยะยาวไกลออกไปอีกหลายปี ถ้าเลิกได้มันก็มีผลดีหลายข้อเลยนะ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของกลิ่นปากอย่างเดียว แต่หมอเข้าใจค่ะว่า ”ของมันเลิกยาก” ก็ต้องค่อยๆ ให้เวลากับตัวเองลด ละ เลิก กันนานสักหน่อย เชื่อเถอะค่ะ ว่าในวันที่ทำสำเร็จ มากกว่าเรื่องของกลิ่นปากที่จะกลับมาหอมสดชื่นและสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็คือ “ความภูมิใจ” ที่เราทำได้สำเร็จ ใครที่กำลังจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่อยู่ หมอเป็นกำลังใจให้นะคะ

รู้หรือไม่ กลิ่นปากบอกโรคอะไรได้บ้าง? 

อย่างหนึ่งที่หมออยากให้ทุกคนสังเกตตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องของกลิ่นปาก ก็เพราะว่ามันคือ “สัญญาณเตือน” ของโรคภัยหลายโรค มีตั้งแต่โรคเล็กๆ ยันโรคใหญ่ๆ ที่รักษาได้ยาก เช่น
  1. โรคฟันผุและเหงือกอักเสบ
  2. โรคต่อมทอลซินอักเสบ
  3. โรคไซนัสอักเสบ
  4. โรคลิ้นหัวใจอักเสบ
  5. การติดเชื้อจากปอด หลอดลม ไตวาย ตับวาย โรคมะเร็งต่างๆ
  6. ฯลฯ
นี่แค่ตัวอย่างเบาๆ ของสัญญาณเตือนภัยที่มากจาก “กลิ่นปาก” หรือแม้เเต่อาการ “เรอ” ถ้าจะให้มานั่งคุยกันถึงรายละเอียดแบบลึกๆ ในแต่ละข้อ หมอขอแปะโป้งไว้ในบทความหลังๆ นะคะ  เพราะแต่ละหัวข้อมันก็มีดีเทลในตัวมันเองเยอะพอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าใครอ่าน Blog ของหมอมาถึงบรรทัดนี้ ลอง Recheck ตัวเองเลยนะว่าเรา “ปากเหม็น” อยู่รึเปล่า?
เอาล่ะ!! ไหนลองเอามือป้องปาก เป่าลมหายใจเบาๆ เช็คตัวเองกันหน่อยจ้า

Comments

comments