096-305-0765

การจัดฟัน

เด็นทัลพอยท์คลินิก

จัดฟัน คำแนะนำในการจัดฟัน

จัดฟัน คำแนะนำในการจัดฟัน

การจัดฟันคือ

การจัดฟัน เป็นการรักษาที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับคนที่มีปัญหาเรื่องฟัน เช่น มีฟันเกหลายซี่ มีขากรรไกรล่างกับบนอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกที่ มีปัญหาฟันยื่น และฟันขบกันได้ไม่พอดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลเสียกับฟันในระยะยาวเพราะทำให้ทำความสะอาดได้ยาก และเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากฟันผุและโรคเหงือก ในบางรายอาจเกิดการกดทับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวและบดอาหารซึ่งอาจจะส่งผลต่ออาการปวดศีรษะ ปวดข้อต่อขากรรไกร คอ ไหล่ และหลังได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสียบุคลิกภาพอีกด้วย

การจัดฟัน เป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องหลายปี จึงต้องอาศัยความร่วมมือในการรักษาจากคนไข้อย่างมาก และต้องมีการนัดพบกับทันตแพทย์เดือนละครั้งทุกเดือน เพื่อปรับเครื่องมือที่ใช้ในการจัดฟัน

นอกจากนี้ การดูแลสภาพเหงือกและฟันเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นหน้าที่ของคนไข้ที่จะต้องดูแลให้มากกว่าปกติ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเกิดปัญหาขึ้นคือ ปัญหาฟันผุ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือก มีอาการเหงือกร่น และฟันโยกจากโรคเหงือกได้

เวลาที่ใช้ในการจัดฟัน

ในการจัดฟันนั้นจะใช้เวลาในการทำแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น

  1. ความยากง่ายของเคส ถ้ายากก็จะใช้เวลานานมากกว่าในการจัดฟัน
  2. ในเคสที่ต้องมีการถอนฟันร่วมกับการจัดฟัน จะใช้เวลาในการรักษานานกว่าในเคสที่ไม่มีการถอนฟันเลย โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้วางแผนการรักษาในแต่ละรายแตกต่างกัน
  3. คนไข้ที่มีอายุยังน้อย ไม่เกิน 30 ปี การจัดฟันจะเสร็จเร็วกว่าคนอายุมากกว่า 30 ปี
  4. ความร่วมมือในการรักษา คนไข้ที่ทำเครื่องมือจัดฟันหลุดบ่อย หรือไม่มาตามนัดในการรักษาทุกเดือน จะมีแนวโน้มทำให้การจัดฟันเกิดปัญหามากขึ้น และใช้เวลาในการรักษานานขึ้น

ขั้นตอนในการจัดฟัน

การจัดฟันโดยทั่วไปมักจะมีขั้นตอนในการรักษาคร่าว ๆ ดังนี้

  1. ใน 6 เดือนแรก จะมีการเปลี่ยนลวดจัดฟันจากลวดเล็กเป็นลวดเบอร์ใหญ่ที่สุด ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนลวดจะมีอาการเจ็บ หรือตึงที่ฟันประมาณ 3 – 4 วัน
  2. หลังจาก 6 เดือนแรก จะมีการดึงฟันเขี้ยวเข้ามาก่อน โดยจะใช้เวลาในช่วงนี้ตั้งแต่หลายเดือนจนถึงปีจึงจะเข้าที่
  3. เมื่อเขี้ยวเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว จะเริ่มปิดช่องฟันโดยทำการรวบฟัน 4 ซี่หน้าให้ชิดกัน ใช้เวลาเกือบปีจึงจะเข้าที่
  4. เมื่อฟันชิดกันทุกตำแหน่งแล้ว จะต้องทำการคงสภาพฟันไว้แบบนั้นประมาณ 4 – 6 เดือน เพื่อให้กระดูกบริเวณรอบ ๆ ฟันแต่ละซี่แข็งแรง โดยในระยะนี้จะมีการแก้ไขฟันเฉพาะตำแหน่งที่ยังไม่สวยให้สวยขึ้นก่อนที่จะถอดเครื่องมือจัดฟันออก
  5. เมื่อฟันเข้าที่ในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว ก็จะเป็นช่วงระยะเวลาที่จะถอดเครื่องมือจัดฟันออก และเปลี่ยนมาใส่รีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟัน
  6. เมื่อจัดฟันเสร็จแล้ว ควรกลับมาตรวจสภาพฟัน ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของฟันที่จัด และทำการแก้ไขหากมีปัญหาเกิดขึ้น

การประเมินระยะเวลาในการจัดฟัน

การประเมินระยะเวลาในการจัดฟันนั้นเป็นการประเมินอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น ทันตแพทย์ไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ เพราะระยะเวลาในการจัดฟันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน  ได้แก่

  1. การตอบสนองต่อการรักษา การเจริญเติบโต และพัฒนาการของกระดูกขากรรไกรและใบหน้า
  2. ความร่วมมือในการรักษาของคนไข้ และการมาพบแพทย์ตามนัด
  3. อายุของคนไข้ หรือความรุนแรงของความผิดปกติของการเรียงฟัน

การเปลี่ยนแผนการรักษาขณะจัดฟัน

ในบางครั้งแผนการรักษาเบื้องต้นอาจต้องเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  1. การตอบสนองต่อการรักษา
  2. ความร่วมมือในการรักษา (ใช้เครื่องมือตามที่ทันตแพทย์จัดฟันแนะนำ)

ซึ่งแผนการรักษาอาจเปลี่ยนจากไม่ต้องถอนฟัน เป็นต้องถอนฟัน หรือ จากการจัดฟันอย่างเดียว เป็นการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติระหว่างการจัดฟัน

  1. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็ง เหนียว และกรอบ ทั้งหลาย เช่น การเคี้ยวก้อนน้ำแข็ง ปลาหมึก ถั่ว ลูกอม ท้อฟฟี่ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง หรือหมากฝรั่ง เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดได้
  2. การรับประทานผัก ผลไม้ ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กพอดีคำ และเคี้ยวด้วยฟันกรามหลัง นอกจากนี้ควรเลือกรับประทานอาหารผักผลไม้ที่อ่อน ๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับเครื่องมือจัดฟัน
  3. ในระยะแรกของการจัดฟัน มักจะมีอาการเจ็บฟัน และอาจมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงไปเองในช่วงสัปดาห์ที่ 2 วิธีลดการระคายเคืองสามารถทำได้โดยนำขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์ทาปิดทับบริเวณเครื่องมือจัดฟันที่แหลมคม และการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยทำให้แผลภายในช่องปากหายได้เร็วขึ้น
  4. ถ้าลวดจัดฟันงอออกมาแทงริมฝีปากหรือกระพุ้งแก้ม ให้ใช้ของไม่มีคม เช่น ยางลบปลายดินสอ นำมาชุบแอลกอฮอล์และใช้กดดันปลายลวดเข้าไป
  5. แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเสร็จ เพื่อเป็นการลดการเกิดฟันผุในระหว่างจัดฟัน
  6. ในระหว่างการจัดฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน ทำความสะอาดฟัน และตรวจฟันผุทุก ๆ 6 เดือน

ความร่วมมือในการรักษาด้วยการจัดฟัน

สำคัญที่สุดในการจัดฟัน ได้แก่

  • การรักษาความสะอาด
  • การดูแลเครื่องมือไม่ให้หักหรืองอ
  • การใช้เครื่องมือประกอบเพื่อช่วยในการรักษา เช่น ยางคล้องฟัน เครื่องมือโอบรัดศีรษะ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นการรักษาก็จะไม่มีวันเสร็จและอาจต้องถอดเครื่องมือออกทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดฟัน

  • ฟันผุ เหงือกอักเสบ เกิดขึ้นได้เมื่อรักษาความสะอาดไม่ดีพอ ดังนั้นควรทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังทานอาหารเสร็จ หรือใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์วันละ 2 ครั้ง
  • รากฟันละลาย การเคลื่อนฟันทุกครั้งจะมีแรงกดบนรากฟัน และจะเกิดการละลายของรากฟัน แต่เป็นไปในปริมาณน้อยมาก และไม่เป็นอันตรายใด ๆ ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบ ดังนั้นการป้องกันการละลายตัวของรากฟันคือพยายามให้การรักษาใช้เวลาสั้นที่สุด โดยมาตามนัดอย่างตรงเวลาทุกครั้ง ใช้เครื่องมือตามคำแนะนำ และรักษาความสะอาดในช่องปาก
  • แผลในช่องปาก ให้ใช้ขี้ผึ้งตามคำแนะนำ  ถ้าเจ็บมากให้ทายาที่แผลในปากได้

เลิกนิสัยที่มีผลต่อการสบฟันที่ผิดปกติ

แรงเพียงเบา ๆ ก็สามารถเคลื่อนฟันได้ และนิสัยที่ผิดปกติบางอย่าง ได้แก่

  • การดูดนิ้ว
  • การหายใจทางปาก
  • การเอาลิ้นดุนฟันขณะกลืนน้ำลายหรือขณะพูด
  • นิสัยชอบกัดเล็บ เป็นต้น

พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสามารถผลักฟันให้เคลื่อนที่ได้เช่นกัน ซึ่งจะมีผลต่อการสบฟันที่ผิดปกติในอนาคต  ดังนั้นผลการรักษาการจัดฟันจะดีได้ ต้องเลิกนิสัยเหล่านี้ให้หมดเสียก่อน

อาการที่มักพบหลังจากติดเครื่องมือจัดฟันในระยะแรก

มักจะมีแผลเกิดขึ้นเสมอ  ซึ่งแผลดังกล่าวจะค่อย ๆ หายเองได้ภายใน 5 – 14 วัน ควรใช้ขี้ผึ้งเท่าเม็ดถั่วเขียว ปั้นเป็นท่อน ๆ มาปิดทับลวดจัดฟันบริเวณที่สัมผัสกับแผลเพื่อลดอาการระคายเคือง

ทำความรู้จักการจัดฟัน


ปรึกษาหมอหลิน :
038-416-779
038-416-817
096-305-0765
Line ID : @dppattaya.com

เด็นทัลพอยท์ คลินิกทันตกรรม พัทยา
ค้นหาด้วย Google map นำทางมาถูกแน่นอน
https://goo.gl/MDzxIT (คลิก)
Dental point คลินิก พร้อมให้คำปรึกษาทุกปัญหาเรื่องฟัน