พฤติกรรมทำให้เกิดกลิ่นปาก เพราะปากเหม็นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น !!!
ตอนเด็ก ๆ ใครเคยโดนเพื่อนล้อว่าปากเหม็นกันบ้าง ?
แล้วจำความรู้สึกตอนนั้นได้ไหมว่าเป็นยังไง หมอเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย เราจะรู้สึก “อาย” ถ้าใครที่หัวไว แก้ไขสถานการณ์เก่งหน่อย ก็พอจะหัวเราะกล้อมแกล้มเนียน ๆ ไปได้ แต่หมอเข้าใจนะคะ ว่าในใจลึก ๆ ไม่มีใครชอบหรอกที่ถูกล้อแบบนี้ มันหมดความมั่นใจไปเลย แถมหลาย ๆ คนที่โดนล้อหนักเข้า ก็เสียความมั่นใจจนบุคลิกภาพเสียไปด้วยก็มี มันกระทบเยอะในหลาย ๆ ด้านของคน ๆ นั้นเลยล่ะ
พอมาถึงวัยที่เราโตขึ้น “กลิ่นปาก” ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะมาล้อเลียนเฮฮากันแบบเมื่อก่อนแล้ว ลองนึกภาพตามนะคะ ว่าถ้าคนที่เรากำลังคุยกับใครสักคนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น คนที่แอบชอบ / HR ที่กำลังสัมภาษณ์งานของเราอยู่ / ลูกค้าที่กำลังจะตกลงเซ็นสัญญาสำคัญ ๆ หากเกิดมีกลิ่นปากขึ้นมา ก็คงจะทำลาย First Impression (ความประทับใจเมื่อแรกพบ) ไปได้อย่างน่าเสียดาย ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ถ้าเป็นเราจะทำยังไงดี เราจะเลือกแบบไหน ?
หัวข้อย่อย
เตือนคนอื่นยังไงดีว่า “เขาปากเหม็น” ?
- หากจะเลือก ‘เตือนทันที’ ก็เกรงว่าถ้าไม่ได้สนิทมากพอ หรือถึงจะสนิทกันมาก ก็ยังไม่ค่อยกล้าพูดอยู่ดีนั่นแหละ ถ้าพูดออกไปนี่มีหวังได้วางตัวกันไม่ถูกทั้งคู่ แถมมันก็ออกจะดูผิดกาลเทศะไปหน่อย อารมณ์แบบ…มันใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องนี้ไหมเนี่ย!?! …. ‘เอาลูกอมสักเม็ดไหมฮะ เพิ่งซื้อมาเมื่อวาน รสนี้อร่อยมากเลยครับพี่ แหะ ๆ’
- หากจะเลือก ‘เก็บเงียบ’ ไม่กล้าบอกเพราะเกรงใจ ปล่อยให้บทสนทนาดำเนินต่อไป แล้วบอกตัวเองในใจให้ทน ๆ เอาหน่อย คิดว่าส่วนใหญ่คงจะเลือกวิธีนี้นี่แหละ เพราะถึงจะไม่ใช่การแก้ปัญหา(กลิ่นปาก)ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์มันเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่…
คือ 2 ตัวเลือกนี้ไม่มีอันไหนดีกว่ากันเท่าไหร่นัก ถ้าเลือกได้ก็ขอไม่เจอดีกว่า แล้วทีนี้ลองมาคิดกันเล่น ๆ นะคะ ว่าถ้าเกิดเรากลายเป็นคนที่มีปัญหา “ปากเหม็น” ซะเองล่ะ จะทำยังไง?
คนปากเหม็น = ตัวเราเอง
ถ้าเรากลายเป็นคนที่มีกลิ่นปากซะเอง ต่อให้ยังไม่ทันจะได้ไปคุยกับใคร ใจมันก็ฝ่อไปหมดแล้วค่ะ ความมั่นใจไม่มีเหลือแล้ว ถ้าเป็นตอนเด็ก ๆ เต็มที่ก็แค่โดนล้อ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เรื่องของกลิ่นปากนี่พูดกันยากถึงขั้นที่เรียกว่า ต่อให้สนิทกันแค่ไหน มาเตือนก็ยังเคืองเลยค่ะ เพราะฉะนั้น “กลิ่นปาก” ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น…. จริง ๆ นะ
แล้วต้องทำยังไง ถึงจะไม่มีกลิ่นปาก ?
ในวัน ๆ หนึ่ง เคยสังเกตตัวเองกันไหมคะ ว่าเราดูแลปากและฟันของตัวเองยังไงกันบ้าง ถ้ายังไม่เคยลองสำรวจตัวเองอย่างจริงจัง เรามาเริ่มสำรวจไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
- เราเป็นคนกินเร็วหรือเปล่า? เพราะการเคี้ยวอาหารเร็วเกินไปทำให้อาหารไม่ย่อย และเกิดกลิ่นปากได้
- พิสวาทอาหารรสแซ่บ จัดจ้าน เครื่องเทศแบบเข้มถึงใจ เช่น ส้มตำ ยำแหนม กับแกล้มที่พ่วงผักกลิ่นแรงอย่างผักชีลาว ข้าวคลุกกะปิ ฯลฯ อาหารที่มีเครื่องเทศกลิ่นแรง หรือแม้ส่วนผสมเล็กน้อยอย่าง กระเทียม หอมหัวใหญ่ พวกนี้ก็เป็นตัวการของกลิ่นปากได้อย่างดีเลยค่ะ ก่อนเลือกทานอาหารในวันที่มีนัดสำคัญๆ อย่าลืมเช็คนะคะ ว่าอาหารที่เราสั่งมีอะไรที่ฉุนๆ กลิ่นแรง ๆ บ้างไหม
- ขี้เกียจแปรงฟัน ชอบลืมแปรงฟันอยู่บ่อย ๆ
- ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ข้อนี้ขอยกให้เป็นแชมป์สาเหตุอาการปากเหม็นเลยค่ะ ถึงขนาดที่บริษัท ซุปเปอร์ดักส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ สำรวจออกมาเรียบร้อยแล้วจากจำนวน 3,000 คน ว่าบุหรี่นี่แหละ แชมป์เปี้ยนเรื่องกลิ่นปากตัวจริง
จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก แต่พฤติกรรมหลัก ๆ ของคนเราก็วน ๆ อยู่ประมาณนี้ค่ะ นี่ยังไม่นับรวมกลิ่นปากที่มาจากโรคต่าง ๆ ด้วยนะคะ เพราะในหัวข้อนี้ หมออยากให้ทุกคนหันมาสำรวจพฤติกรรมประจำวันของตัวเองกันก่อนว่ามีข้อไหนที่ทำให้เกิดกลิ่นปากหรือเปล่า
ถ้าเช็คดูแล้ว มีข้อไหนสักข้อเดียวที่ตรงกับตัวเอง แค่ข้อเดียว…ก็ควรจะปฏิวัติตัวเองใหม่ได้เล้วนะ อันนี้พูดจริง!!
แล้วจะทำยังไงดี ถ้ามีกลิ่นปาก ?
เรื่องนี้ง่ายมากเลยค่ะ ถ้าเราเช็คตัวเองเรียบร้อยว่าเรามีเรื่องไหนที่ทำให้ปากเหม็น ก็แค่ทำตัวตรงกันข้ามจากที่เคย ง่ายๆ เท่านี้เอง วิธีการน่ะ หมอบอกเลยว่าไม่อยาก แต่ความใส่ใจและวินัยที่ต้องทำทุกวันนี่สิ ยากกว่าเยอะ
พฤติกรรมทำให้เกิดกลิ่นปาก
- ถ้าเป็น คนกินไว เคี้ยวไว กลืนไว ก็ลดสปีดในการเคี้ยวของตัวเองลงมาหน่อย คือในชีวิตจริงคนเรามันถูกบีบด้วยเวลา ไหนจะพักเที่ยงที่มีแค่ชั่วโมงเดียว ไหนจะต้องรีบไปทำนั่นทำนี่ จะให้มัวมานั่งนับเคี้ยวให้ครบ 30 ครั้งค่อยกลืนก็ดูจะเป็นไปได้ยาก เคี้ยวแบบนี้มีหวังวัน ๆ ไม่ได้ทำอะไรกันพอดี ดังนั้นหมออยากลองให้ทุกคนค่อย ๆ ลองใช้วิธีเคี้ยวให้นานกว่าเดิมทีละนิด ๆ อาจจะยังไม่ต้องนับจำนวนการเคี้ยวก็ได้ค่ะ แต่ขอให้ใช้เวลากับมันในนานกว่าเดิมนิดนึง ค่อย ๆ ทำให้ตัวเองชินกับการเคี้ยว แล้วเราจะปรับตัวได้เองในที่สุด
- ชอบกินอาหารรสจัด ก็ต้องมีตัวช่วยในการดับกลิ่นปาก หลาย ๆ คนนิยมอาหารรสจัด ชนิดที่ว่าแซ่บลื้มมมม… แต่รู้ไหมคะว่าอาหารที่แซ่บลื้มมมม..นี่แหละตัวดีเลยที่ทำให้เรามีกลิ่นปาก ถ้ารักที่จะทานอาหารแนวนี้จริง ๆ อย่าลืมพกตัวช่วยในการดับกลิ่นปากหลังทานอาหารเสร็จติดกระเป๋าเอาไว้ด้วย ทานเสร็จแล้วก็จะได้มั่นใจว่ายังไงก็ไม่มีกลิ่นปากแน่นอน
- ถ้าขี้เกียจแปรงฟัน ก็ทำตัวให้ขยัน ๆ ซะ มันไม่ยากเลย การดูแลช่องปากขั้นพื้นฐานเราทุกคนรู้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของการแปรงฟันเช้า-เย็น การแปรงลิ้น การใช้น้ำยาบ้วนปาก ใช้ไหมขัดฟัน ไปหาทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ฯลฯ แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ มีใครทำครบบ้าง? ถ้าใครยังทำไม่ครบ ต้องค่อย ๆ เริ่มปรับพฤติกรรมการดูแลช่องปากตัวเองใหม่นะคะ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของเราเอง แถมสิ่งที่ได้เพิ่มเติมกลับมาคือ “วินัย” ให้ตัวเองล้วน ๆ
- ดื่มสุรา สูบบุหรี่ พอเดินทางมาถึงข้อนี้ ถ้าให้เลิกเลยทันทีก็คงยาก แต่เมื่อมองในระยะยาวไกลออกไปอีกหลายปี ถ้าเลิกได้มันก็มีผลดีหลายข้อเลยนะ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของกลิ่นปากอย่างเดียว แต่หมอเข้าใจค่ะว่า ”ของมันเลิกยาก” ก็ต้องค่อย ๆ ให้เวลากับตัวเองลด ละ เลิก กันนานสักหน่อย เชื่อเถอะค่ะ ว่าในวันที่ทำสำเร็จ มากกว่าเรื่องของกลิ่นปากที่จะกลับมาหอมสดชื่นและสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็คือ “ความภูมิใจ” ที่เราทำได้สำเร็จ ใครที่กำลังจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่อยู่ หมอเป็นกำลังใจให้นะคะ
รู้หรือไม่ กลิ่นปากบอกโรคอะไรได้บ้าง?
อย่างหนึ่งที่หมออยากให้ทุกคนสังเกตตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องของกลิ่นปาก ก็เพราะว่ามันคือ “สัญญาณเตือน” ของโรคภัยหลายโรค มีตั้งแต่โรคเล็ก ๆ ยันโรคใหญ่ ๆ ที่รักษาได้ยาก เช่น
- โรคฟันผุและเหงือกอักเสบ
- โรคต่อมทอลซินอักเสบ
- โรคไซนัสอักเสบ
- โรคลิ้นหัวใจอักเสบ
- การติดเชื้อจากปอด หลอดลม ไตวาย ตับวาย โรคมะเร็งต่าง ๆ
- ฯลฯ
นี่แค่ตัวอย่างเบา ๆ ของสัญญาณเตือนภัยที่มากจาก “กลิ่นปาก” หรือแม้เเต่อาการ “เรอ” ถ้าจะให้มานั่งคุยกันถึงรายละเอียดแบบลึก ๆ ในแต่ละข้อ หมอขอแปะโป้งไว้ในบทความหลัง ๆ นะคะ เพราะแต่ละหัวข้อมันก็มีดีเทลในตัวมันเองเยอะพอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าใครอ่าน Blog ของหมอมาถึงบรรทัดนี้ ลอง Recheck ตัวเองเลยนะว่าเรา “ปากเหม็น” อยู่รึเปล่า?
เอาล่ะ!! ไหนลองเอามือป้องปาก เป่าลมหายใจเบา ๆ เช็คตัวเองกันหน่อยจ้า
เกร็ดความรู้ดูแลสุขภาพช่องปาก
- มาดูสิว่าคราบสกปรกบนฟันมีกี่แบบ
- บุหรี่ทำให้ฟันเหลืองได้อย่างไร?
- วิธีดูแลฟันไม่ให้เป็นคราบสำหรับคนชอบกินชา กาแฟ
- มารู้จักส่วนผสมในยาสีฟันกันเถอะ!
- อยากจัดฟัน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร?
- เป็นแผลร้อนในบ่อยมาก จะทำยังไงดี?
ปรึกษาหมอหลิน :
038-416-779
038-416-817
096-305-0765
Line ID : @dppattaya.com
เด็นทัลพอยท์ คลินิกทันตกรรม พัทยา
ค้นหาด้วย Google map นำทางมาถูกแน่นอน
https://goo.gl/MDzxIT (คลิก)
Dental point คลินิก พร้อมให้คำปรึกษาทุกปัญหาเรื่องฟัน