ครอบฟันคืออะไร ?
ครอบฟัน คือ ฟันปลอมแบบติดแน่น ที่ทันตแพทย์จะสวมทับลงบนฟันซี่ที่มีปัญหา ( ฟันแตก ฟันบิ่น ฟันที่อุดไม่ได้แล้ว หรือฟันที่ผ่านการรักษาราก เป็นต้น) คล้ายกับลักษณะของมงกุฎที่สวมลงบนศีรษะ (ครอบฟัน = Crown)
สะพานฟัน คือ แผงครอบฟันที่คร่อมทับ/ปิดช่องว่าง หรือปิดฟันหลอ โดยการสวมครอบฟันซี่ริมทั้งสองด้าน ทับแบบติดแน่นลงบนฟันซี่สุดท้ายของช่องว่างทั้งสองด้าน เปรียบคล้ายกับลักษณะของ “สะพาน”
ในการทำครอบฟันนั้น ทันตแพทย์จะกรอผิวฟันรอบ ๆ ซี่ฟันออกโดยรอบ เพื่อให้ฟันปลอมซี่ใหม่ที่จะสวมลงไปนั้นได้ขนาดพอดีพอเหมาะกับฟันซี่ข้าง ๆ หลังจากนั้นทันตแพทย์จะพิมพ์ฟันที่กรอแล้ว โดยมีครอบฟันชั่วคราวใส่เอาไว้ให้เพื่อป้องกันอาการเสียวฟันจากการกรอฟัน นั้น แต่ครอบฟันชั่วคราวนี้ แม้จะมีลักษณะเหมือนฟันมาก แต่วัสดุที่ใช้ไม่มีความคงทนถาวร สามารถแตกหรือชำรุดได้หากใส่ไปนาน ๆ ครอบฟันชั่วคราวนี้ ทันตแพทย์จะให้ใส่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนัดให้คนไข้มาใส่ครอบฟัน ด้วยวิธีการยึดด้วยกาวซีเมนต์ทางทันตกรรมหรือเรซิ่นกับคอฟันที่ได้เตรียมไว้
ลักษณะของฟันปลอมติดแน่นหรือครอบฟัน ภายหลังจากที่ยึดกับคอฟันที่มีการกรอผิวฟันเตรียมไว้ก่อนหน้าแล้ว จะมีความสวยงามสมจริงเหมือนธรรมชาติมาก ๆ ที่สำคัญยังอำนวยความสะดวกแก่ท่านเจ้าของ โดยที่ไม่ต้องถอดเข้าถอดออกเหมือนกับฟันปลอมแบบถอดได้อีกด้วย.
– ลักษณะของสะพานฟันซึ่งเป็นแผงของครอบฟันที่ทันตแพทย์จะนำมาปิดช่องว่างระหว่างฟัน
สะพานฟัน
ในกรณีที่มีการถอนฟันออกไปจนเกิดเป็น ” ฟันหลอ” การทำสะพานฟัน คือการทำฟันปลอมแบบติดแน่น สามารถช่วยแก้ปัญหาฟันหลอได้อย่างดี
– สภาพ “ฟันหลอ” หรือกรณีที่มีฟันถูกถอนออกไปจนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างซี่ฟัน
– หลังจากคุณหมอยึดสะพานฟันสองด้านติดเข้ากับฟันทั้งสองซี่แล้ว ฟันจะมีลักษณะเดียวกับฟันธรรมชาติจนแยกไม่ออก
ครอบฟันหรือสะพานฟันนั้นเป็นกระบวนการซ่อมแซมอย่างหนึ่ง ใช้สำหรับในกรณีที่
- ฟันผุขนาดใหญ่จนไม่สามารถอุดด้วยวัสดุอุดอย่างอื่นได้
- ฟันแตก ฟันร้าว
- ฟันที่ผ่านการรักษาราก (ก่อนทำครอบฟัน ต้องมีการทำเดือยฟันร่วมด้วย)
- ทดแทนฟันซี่ที่หายไป
สิ่งที่ควรทราบของครอบฟัน สะพานฟัน
1) อาจจะมีอาการเสียวหรือปวดน้อย ๆ ที่ฟันซี่ที่ถูกกรอ
2) จะมีความรู้สึกตึง ๆ ที่เหงือกบริเวณซี่ฟันที่ถูกกรอหรือใกล้เคียง
3) ครอบฟันชั่วคราวที่ใส่ไว้ ใส่เพียงเพื่อป้องกันการเสียวฟัน หรือป้องกันฟันล้มซึ่งทำด้วยพลาสติกจะไม่แข็งแรง ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปเคี้ยวของแข็งหรือเหนียวมาก ๆ อาจจะหักหรือหลุดได้ และจะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นด้วย
4) การใส่ครอบฟันหรือสะพานฟันในระยะแรกอาจจะรู้สึกแปลก ๆ อาจเคี้ยวอาหารไม่สะดวก เนื่องจากยังไม่เคยชินกับฟันปลอม ไม่ควรกังวลกับฟันปลอมมากเกินไป ให้ทำกิจวัตรเหมือนปกติ แล้วจะ่ค่อย ๆ เคยชินกับฟันปลอมไปเอง
5) ในบางครั้งฟันปลอมที่ใส่ไปแล้วอาจหลุดได้ไม่ต้องตกใจ ให้ท่านเก็บฟันปลอมทุกชิ้นส่วนและรีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที่
6) ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากตัวฟันปลอมไม่สามารถถอดออกมาได้ โดยเฉพาะด้านใต้สะพานฟันมักจะมีเศษอาหารหรือแผ่นคราบจุลินทรีย์ตกค้างบริเวณ ใต้สะพานฟัน ดังนั้น หลังจากแปรงฟันตามปกติแล้วยังต้องใช้ไหมขัดฟันชนิดพิเศษ (Super Floss) หรือแปรงซอกฟันทุกครั้งทำความสะอาดใต้สะพานฟัน ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดมีหินปูนเกาะ มีเหงือกอักเสบ ฟันผุบริเวณรอยต่อระหว่างคอฟันและครอบฟัน ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงมาก ๆ จะทำให้ต้องรื้อทั้งฟันปลอมและถอนตอฟันแท้ออกทั้งหมด
7) ควรกลับมาพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อมาตรวจสภาพฟันปลอม ประเมินการดูแลรักษาทำความสะอาดฟันปลอมเพื่อให้ฟันปลอมมีอายุการใช้งานได้ดี ตลอดไป
8) การใช้ฟันผิดวิธี เช่น ใช้ฟันปลอมเคี้ยวของแข็ง หรือเปิดฝาขวดน้ำอัดลม อาจทำให้ฟันปลอมเสียหายได้