096-305-0765

ฟันล่างคร่อมฟันบน จัดฟัน

ฟันล่างคร่อมฟันบน (Crossbite) นับว่าเป็นลักษณะการสบฟันที่ผิดปกติรูปแบบหนึ่ง โดยที่มีลักษณะการเรียงตัวของฟันที่มีฟันล่างที่ยื่นออกมามากกว่าปกติ เมื่อเรากัดฟันอยู่เฉย ๆ ฟันล่างก็จะคร่อมเกยฟันบนออกมา ทำให้คนที่มีลักษณะฟันแบบนี้จะมีภาวะคางยื่นมากกว่าคนทั่วไป รวมไปถึงอาจมีหน้าเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่งด้วยนั่นเองค่ะ ลักษณะฟันล่างคร่อมบนแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้นนะคะ แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุก ๆ วัย ตั้งแต่วัยฟันน้ำนม ฟันผสม ไปจนถึงฟันแท้ และอาจมีความผิดปกติของขากรรไกรร่วมด้วย

ฟันล่างคร่อมฟันบน เกิดจากอะไร

ฟันล่างยื่นคร่อมบน สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางพันธุกรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนด การขึ้นของฟันน้ำนมที่ล่าช้า อุบัติเหตุ รวมไปถึงความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ และกระดูกขากรรไกรเจริญเติบโตผิดปกติ เช่น ขนาด รูปร่าง หรือขากรรไกรโตช้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งสองข้างพร้อมกัน หรืออาจเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้นค่ะ

 

นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมตั้งแต่วัยเด็ก เช่น การดูดนิ้ว การใช้จุกนมหลอก การหย่าขวดนมช้า การใช้ลิ้นดุนฟันหน้าบ่อย ๆ และการกลืนที่ผิดวิธี ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยว จนนำมาสู่ภาวะการสบฟันผิดปกติที่เรียกว่า “ฟันล่างคร่อมฟันบน” หรือ Cossbite ได้ค่ะ  โดยความรุนแรงของลักษณะการสบฟันแบบนี้ จะมีตั้งแต่ฟันล่างยื่นคร่อมฟันบนเล็กน้อย 1 – 3 ซี่ ไปจนถึงฟันบนและฟันล่างไม่สบกันเลย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มขากรรไกรบนและล่างปกติ

มีลักษณะฟันที่ฟันล่างยื่นคร่อมฟันบนไม่เกิน 1 – 3 ซี่ ฟันบนดูไม่บาน และฟันล่างไม่ล้มเข้าด้านใน

  • กลุ่มขากรรไกรผิดปกติ

มีลักษณะขากรรไกรบนเล็ก ขากรรไกรล่างใหญ่ และมีฟันที่ฟันล่างยื่นคร่อมฟันบนมากกว่า 2 ซี่ขึ้นไป มุมฟันบนบาน หรืออาจมีมุมฟันล่างล้มเข้าด้านในร่วมด้วย

ปัญหาที่พบบ่อยของคนฟันล่างคร่อมบน

แม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะคุ้นชินกับการที่มีฟันล่างคร่อมฟันบนไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนนะคะที่มักจะประสบปัญหาในการใช้ชีวิตบ่อย ๆ วันนี้ “หมอหลิน เด็นทัลพอยท์คลินิก” จะมารวบรวมปัญหาที่พบได้บ่อยของคนที่มีภาวะฟันล่างคร่อมฟันบนมาฝากกันค่ะ

 

ปัญหา ฟันล่างคร่อมฟันบน

  • รับประทานอาหารลำบาก/เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
  • พูดลำบาก/ออกเสียงไม่ชัดเจน
  • มีอาการเจ็บขากรรไกร/ข้อต่อเรื้อรัง
  • เคลือบฟันกร่อนมาก มีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่าย
  • มีกลิ่นปากจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • นอนกรน หายใจลำบากตอนกลางคืน

การรักษาฟันล่างคร่อมฟันบน จำเป็นต้องผ่าตัดไหม

การแก้ไขฟันล่างคร่อมฟันบน สามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีจัดฟัน และไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไปนะคะ แต่การจะตัดสินว่าผ่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าขากรรไกรบนและล่างของเรามีความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน และการแก้ไขภาวะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันค่ะ นั่นก็คือ

  1. การรักษาการสบฟันที่ผิดปกติ
  2. การรักษาโครงสร้างขากรรไกรที่ผิดปกติ 

ซึ่งถ้าหากคนไข้ต้องการแก้ไขภาวะฟันล่างคร่อมฟันบนและภาวะคางยื่นให้เป็นปกติมากที่สุด ก็จำเป็นจะต้องมีการผ่าตัดศัลยกรรมร่วมด้วยนะคะ เพื่อเป็นการรักษาการสบฟันและโครงสร้างของขากรรไกรไปพร้อม ๆ กัน

แต่สำหรับคนไข้ที่ต้องการรักษาให้สามารถเคี้ยวอาหารให้ดีขึ้น หรือต้องการแก้ไขใบหน้าให้เบี้ยวน้อยลง ก็อาจรับการรักษาด้วยวิธีจัดฟันเพียงอย่างเดียว โดยจะมีตั้งแต่การใส่อุปกรณ์ขยายขากรรไกรบน การจัดฟันเหล็ก และการจัดฟันแบบใส ซึ่งจำเป็นจะต้องมาตรวจที่คลินิกเพื่อให้ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้อีกครั้งค่ะ

รักษาฟันล่างคร่อมฟันบน แบบไม่ผ่าตัด

การรักษาฟันล่างคร่อมฟันบนแบบไม่ผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่นิยมในคนไข้ที่มีฟันล่างยื่น และมีความผิดปกติของขากรรไกรที่ไม่รุนแรงมากนักนะคะ ยกตัวอย่างเช่น การรักษาในกรณีที่คนไข้มีขากรรไกรบนและล่างปกติ หรือสามารถถอยฟันล่างให้สัมผัสกับฟันบนได้พอดี ส่วนใหญ่การรักษาจะไม่ยุ่งยาก สามารถจัดฟันรักษาการสบฟันที่ผิดปกติให้ดีขึ้นได้

แต่สำหรับการรักษาในกรณีที่ขากรรไกรบนหรือล่างผิดปกติจนสังเกตได้ว่ามีคางยื่น คางเบี้ยว ยิ้มแล้วมีฟันล่างคร่อมฟันบนมากกว่า 2 ซี่ขึ้นไป หรือมุมฟันบนบานและฟันล่างล้มเข้าไปด้านใน ก็เป็นไปได้ว่าจะต้องทำการผ่าตัดร่วมด้วยนะคะ

รักษาฟันล่างคร่อมฟันบน ไม่ผ่าตัด

การรักษาฟันล่างคร่อมฟันบน แบบไม่ผ่าตัด หากทำการรักษาตั้งแต่เด็กที่อายุยังน้อยและร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จะทำให้รักษาเป็นไปได้ง่ายไม่ซับซ้อนเท่ากับการรักษาในผู้ใหญ่ และทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้เริ่มตรวจสภาพช่องปากในเด็กตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต มีการเสริมสร้างและละลายตัวของกระดูกที่รวดเร็ว สามารถเคลื่อนฟันได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้แรงดึงฟันมากเท่ากับผู้ใหญ่ ทันตแพทย์จึงใช้ประโยชน์ในข้อนี้มาช่วยแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรในเด็ก โดยใช้อุปกรณ์ขยายขากรรไกรบน และกุญแจชนิดพิเศษค่อย ๆ ไขดันให้ขากรรไกรขยายขึ้นทีละนิด ๆ ทำเป็นประจำสม่ำเสมอทุก ๆ คืน จนกระทั่งฟันล่างไม่ยื่นเกยฟันบนออกมานั่นเองค่ะ

จัดฟันแก้ฟันล่างคร่อมฟันบน

สำหรับการจัดฟันเหล็ก หรือการจัดฟันโลหะชนิดติดแน่น ทันตแพทย์จะใช้วิธีการดึงฟันหน้าล่างเข้ามาด้านใน และขยายฟันหน้าให้บานออกจนสบกับฟันล่างได้พอดี ซึ่งวิธีนี้อาจมีการใช้เครื่องมือจัดฟันอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่น ยางดึงฟัน หรือปักหมุดจัดฟัน

สำหรับการจัดฟันแบบใส หรือการจัดฟันชนิดถอดได้ จะมีสิ่งที่เรียกว่า Attachments หรือปุ่มเล็ก ๆ ที่อยู่บนเครื่องมือจัดฟันใส ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการคำนวณแรงการเคลื่อนฟันในทิศทางที่ต้องการ โดยไม่ต้องใช้ลวดจัดฟัน และจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเคสและความมีวินัยของคนไข้ด้วยนะคะ

การจัดฟันรักษาล่างคร่อมฟันบน ร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

การจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร เป็นวิธีการรักษาในคนไข้ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกขากรรไกรที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ขากรรไกรล่างหดเล็ก คางยื่นมาก หรือฟันล่างยื่นคร่อมฟันบนมากเกินไป เนื่องจากการจัดฟันเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ฟันโน้มเอียงมากจนเกินไป ดังนั้นจะต้องทำการปรับขากรรไกรให้สมดุลไปกับการเรียงฟัน ซึ่งผู้ที่รับการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่หยุดการเจริญเติบโตแล้วนั่นเองค่ะ

จัดฟันก่อนแล้วค่อยผ่าตัดขากรรไกร

ขั้นตอนการจัดฟันในช่วงแรกจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ปีก่อนเข้ารับการผ่าตัดขากรรไกรนะคะ เนื่องจากจะต้องปรับแก้ไขการซ้อนเกและแนวแกนฟันเสียก่อน โดยข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือทันตแพทย์จะสามารถประเมินโครงสร้างของใบหน้า การสบฟัน และวางแผนการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม และภายหลังจากการเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว คนไข้จะต้องทำการจัดฟันต่ออีกประมาณ 6 – 24 เดือนจึงจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ค่ะ

ผ่าตัดขากรรไกรก่อน แล้วค่อยจัดฟัน

ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากเพื่อจำลองการผ่าตัด และทำเฝือกสบฟันสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด หลังจากนั้นเมื่อคนไข้ฟื้นตัวได้ดีแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการการจัดฟันเพื่อปรับการสบฟันให้ดีขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1 ปี และวิธีนี้อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนนะคะ แต่ก็มีข้อดีคือสามารถลดระยะเวลาในการรักษาให้เสร็จเร็วขึ้นกว่าวิธีแรกได้ถึง 6 – 12 เดือน

ปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบน หรือภาวะคางยื่น เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่สามารถทำการรักษาได้แต่เนิ่น ๆ โดยผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก ๆ ว่ามีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดภาวะการสบฟันที่ผิดปกติหรือไม่ และควรพาลูก ๆ มาตรวจเช็กสุขภาพช่องปากตั้งแต่ฟันซี่แรก เพื่อลดโอกาสในการผ่าตัดและการรักษาที่ซับซ้อนได้ในอนาคต แต่ถ้าหากมีภาวะฟันล่างยื่นคร่อมฟันบนแล้ว ก็แนะนำว่าควรมาพบทันตแพทย์จัดฟันเฉพาะทางเพื่อปรึกษาและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมในการปรับการสบฟันและโครงสร้างของใบหน้าให้มีความสมส่วนและสวยงามมากขึ้นค่ะ

เคล็ดลับดูแลสุขภาพช่องปาก

 


ปรึกษาหมอหลิน :
038-416-779
038-416-817
096-305-0765
Line ID : @dppattaya.com

เด็นทัลพอยท์ คลินิกทันตกรรม พัทยา
ค้นหาด้วย Google map นำทางมาถูกแน่นอน
https://goo.gl/MDzxIT (คลิก)
Dental point คลินิก พร้อมให้คำปรึกษาทุกปัญหาเรื่องฟัน

 

Comments

comments