096-305-0765

ฟันเหลือแต่ตอ ควรเก็บหรือควรถอนฟัน

ฟันเหลือแต่ตอ หรือลักษณะฟันที่แตกจนเหลือแต่ตอ นอกจากจะใช้งานไม่ได้แล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียชั้นดีอีกด้วยนะคะ ยิ่งเวลาที่เราทานอาหาร เศษอาหารต่าง ๆ ก็จะเข้าไปติดอยู่ที่ตอฟัน ถ้าทําความสะอาดได้ไม่ดีก็จะทําให้เกิดกลิ่นปากเอาได้ง่าย ๆ แล้วทีนี้ก็เกิดคําถามขึ้นตามอีกมาว่า ตอฟัน ควรจะยังเก็บเอาไว้ หรือถอนออกไปดีล่ะ?

ตอฟันคืออะไร

Retained Root หรือ ตอฟันคือ ฟันที่ผุมาก ๆ หรือฟันที่สูญเสียเนื้อฟัน หรือฟันแตกจนเหลือแต่รากฟัน ซึ่งอาจจะอยู่ใต้เหงือก ชิดขอบเหงือก หรือยาวขึ้นมาเหนือเหงือกเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากไม่ได้ถอนออกไป นอกจากจะใช้เคี้ยวอาหารไม่ได้แล้ว ยังมีผลเสียอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น เกิดกลิ่นปากจากเศษอาหารที่เข้าไปติดและเน่าอยู่ในตอฟัน ปวดบวมจากการอักเสบติดเชื้อ เป็นหนอง โดยที่ตอฟันสามารถพบได้กับคนทุกวัย ทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ผู้ที่มีตอฟันจะไม่สามารถสวมฟันปลอมทับลงไปได้ นอกจากจะต้องทำการถอนออกไปเสียก่อนอีกด้วยค่ะ

 

ตอฟันหลุดเองได้ไหม ควรถอนไหม

หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่าการที่ฟันผุหรือฟันแตกจนเหลือแต่ตอนั้นจะสามารถหลุดไปเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็คือการที่เราสูญเสียเนื้อฟันไปมาก แต่รากฟันจะยังคงอยู่ ซึ่งจะทำให้ตอฟันไม่สามารถหลุดออกไปได้เองตามธรรมชาตินะคะ และไม่ควรจะปล่อยไว้นานจนเกิดการอักเสบ เพราะการอักเสบนั้นคือการติดเชื้อที่สามารถพัฒนาลุกลามไปยังกระดูกที่ยึดติดฟันและบริเวณใกล้เคียงได้ ควรจะได้รับการผ่าตัดและถอนฟันออกไปโดยทันตแพทย์ และไม่ควรถอนฟันด้วยตัวเองค่ะ

 

ฟันเหลือแต่ตอ รักษาได้ไหม

โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าหากทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าฟันซี่นั้นไม่คุ้มค่าที่จะเก็บเอาไว้ ก็จะแนะนําให้ถอนฟัน ใส่ฟันปลอม หรือทํารากเทียมแทนนะคะ แต่การที่จะบอกได้ว่าฟันตอแต่ละซี่จะรักษาได้หรือไม่นั้น จำเป็นจะต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการเอกซเรย์ดูรากฟันก่อน เพราะว่าฟันที่แตกจนเหลือแต่ตอ แม้จะเป็นการสูญเสียเนื้อฟันไปมาก แต่ก็มีโอกาสที่จะยังสามารถใช้ฟันซี่นั้นต่อไปได้โดยทําการรักษารากฟัน ปักเดือยฟัน และทําครอบฟัน ไม่จําเป็นต้องถอนออกไปค่ะ และโดยส่วนใหญ่แล้ว ทันตแพทย์จะพิจารณาดูจากเนื้อฟันที่หลงเหลืออยู่บริเวณรอบ ๆ คอฟัน ซึ่งจะต้องเหลืออย่างน้อย 1-2 มิลลิเมตรขึ้นมาจากเหงือก เพื่อช่วยต้านทานการแตกหักของฟันภายหลังจากการทำครอบฟันไปแล้วนั่นเองค่ะ

 

แต่ในกรณีเนื้อฟันอยู่ชิดขอบเหงือกมาก หรือมีเนื้อฟันอยู่ใต้เหงือก ทันตแพทย์ก็อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีจัดฟันหรือผ่าตัดเหงือกเพื่อเพิ่มความสูงของตัวฟัน จากนั้นจึงจะทำการรักษารากฟัน ปักเดือย และทำครอบฟัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยนะคะ เช่น ความยาวของตัวฟันและรากฟันว่ามีความยาวที่เหมาะสมหรือไม่ รวมไปถึงพฤติกรรมการกัดเคี้ยวของคนไข้ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ให้ฟันโยก หรือฟันไม่แข็งแรงในภายหลังได้นั่นเอง

 

รักษาตอฟัน ต้องปักเดือยฟันไหม

รักษาฟันเหลือแต่ตอ ทำไมต้องปักเดือยฟัน

การปักเดือยฟัน (Dental Post) เป็นขั้นตอนที่หลายคนมักจะเคยได้ยินเมื่อพูดถึงการรักษารากฟันและครอบฟันอยู่บ่อย ๆ เลยนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษารากฟันในกรณีที่ฟันได้รับความเสียหายมาก เช่น ฟันแตก ฟันบิ่น เหลือเนื้อฟันน้อย ฟันเหลือแต่รากฟัน หรือตอฟัน เป็นต้น

 

อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเราเปรียบเทียบว่า “ฟันคือบ้าน” เดือยฟันก็เปรียบเสมือนเสาหลักของบ้าน ที่คอยคํ้าจุนให้ฟันของเราสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่พังลงมาง่าย ๆ นะคะ ดังนั้นเวลาที่ทันตแพทย์ทำการรักษารากฟันแล้ว ก็จะนำเอาแกนยึดหรือเดือยฟันใส่เข้าไปในรากฟัน จากนั้นก็จะทําการอุดปิดและใช้วัสดุที่มีลักษณะคล้ายตัวฟันครอบทับลงไปอีกที เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงในการรับแรงบดเคี้ยวจากการใช้งานฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการปักเดือยฟันจําเป็นจะต้องทำทุกครั้งในกรณีที่มีการรักษารากฟันนะคะ แต่สำหรับการรักษาตอฟันหรือฟันที่เหลือแต่ตอก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหาร และป้องกันไม่ให้ครอบฟันแตกระหว่างใช้งานจนทำให้คนไข้บาดเจ็บได้ค่ะ

 

นอกจากนี้ การปักเดือยฟันยังมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มการยึดเกาะครอบฟัน ไม่ให้หลุดได้ง่าย ๆ ทำให้เรามั่นใจได้ว่าฟันที่ผ่านการบูรณะด้วยการครอบฟันแล้วจะสามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้นค่ะ

 

ใส่เดือยฟัน ครอบฟัน อยู่ได้ นาน ไหม

การใส่เดือยฟันและทำครอบฟันสามารถอยู่ได้นานหลายปี และโดยทั่วไปแล้วหากครอบฟันทำจากวัสดุคุณภาพดี จะสามารถอยู่ได้นานถึง 10 – 15 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เช่น แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ และเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนกับทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้งค่ะ

สรุปได้ว่า การที่จะตัดสินว่าควรจะเก็บฟันที่เหลือแต่ตอเอาไว้หรือถอนออกไปนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของฟันซี่นั้น ๆ ด้วยนะคะ ถ้าหากว่าเอกซเรย์ดูแล้วพบว่าฟันตอที่เหลืออยู่ยังมีโครงสร้างรากฟันที่แข็งแรง ก็สามารถรับการรักษาได้ด้วยการรักษารากฟัน ปักเดือยฟัน และทำครอบฟัน เพื่อให้ฟันซี่ที่เหลือแต่ตอ กลับมาใช้งานได้ตามปกติ แต่ถ้าหากตอฟันนั้นได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ ส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนออกโดยเร็วที่สุดนะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผุถึงรากฟัน หรือมีการติดเชื้อที่อาจลุกลามไปยังกระดูกขากรรไกรและฟันซี่อื่น ๆ ได้ค่ะ โดยที่ภายหลังจากการถอนฟันไปแล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใส่ฟันปลอมทดแทน ทำรากเทียม หรือทำสะพานฟัน เพื่อให้การบดเคี้ยวและการใช้งานฟันกลับมาเป็นปกติค่ะ

 

เคล็ดลับดูแลสุขภาพช่องปาก

 


ปรึกษาหมอหลิน :
038-416-779
038-416-817
096-305-0765
Line ID : @dppattaya.com

เด็นทัลพอยท์ คลินิกทันตกรรม พัทยา
ค้นหาด้วย Google map นำทางมาถูกแน่นอน
https://goo.gl/MDzxIT (คลิก)
Dental point คลินิก พร้อมให้คำปรึกษาทุกปัญหาเรื่องฟัน

 

Comments

comments