จัดฟัน คำแนะนำในการจัดฟัน
การจัดฟันคือ
การจัดฟันเป็นการรักษาที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับคนที่มีปัญหาเรื่องฟัน เช่น มีฟันเกหลายซี่ มีขากรรไกรล่างกับบนอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกที่ มีปัญหาฟันยื่น และฟันขบกันได้ไม่พอดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลเสียกับฟันในระยะยาวเพราะทำให้ทำความสะอาดได้ยาก และเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากฟันผุและโรคเหงือก ในบางรายอาจเกิดการกดทับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวและบดอาหารซึ่งอาจจะส่งผลต่ออาการปวดศีรษะ ปวดข้อต่อขากรรไกร คอ ไหล่ และหลังได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสียบุคลิกภาพอีกด้วย
การจัดฟันเป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องหลายปี จึงต้องอาศัยความร่วมมือในการรักษาจากคนไข้อย่างมาก และต้องมีการนัดพบกับทันตแพทย์เดือนละครั้งทุกเดือน เพื่อปรับเครื่องมือที่ใช้ในการจัดฟัน นอกจากนี้ การดูแลสภาพเหงือกและฟันเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นหน้าที่ของคนไข้ที่จะต้องดูแลให้มากกว่าปกติ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเกิดปัญหาขึ้นคือ ปัญหาฟันผุ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือก มีอาการเหงือกร่น และฟันโยกจากโรคเหงือกได้
เวลาที่ใช้ในการจัดฟัน
ในการจัดฟันนั้นจะใช้เวลาในการทำแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น
- ความยากง่ายของเคส ถ้ายากก็จะใช้เวลานานมากกว่าในการจัดฟัน
- ในเคสที่ต้องมีการถอนฟันร่วมกับการจัดฟัน จะใช้เวลาในการรักษานานกว่าในเคสที่ไม่มีการถอนฟันเลย โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้วางแผนการรักษาในแต่ละรายแตกต่างกัน
- คนไข้ที่มีอายุยังน้อย ไม่เกิน 30 ปี การจัดฟันจะเสร็จเร็วกว่าคนอายุมากกว่า 30 ปี
- ความร่วมมือในการรักษา คนไข้ที่ทำเครื่องมือจัดฟันหลุดบ่อย หรือไม่มาตามนัดในการรักษาทุกเดือน จะมีแนวโน้มทำให้การจัดฟันเกิดปัญหามากขึ้น และใช้เวลาในการรักษานานขึ้น
ขั้นตอนในการจัดฟัน
การจัดฟันโดยทั่วไปมักจะมีขั้นตอนในการรักษาคร่าว ๆ ดังนี้
- ใน 6 เดือนแรก จะมีการเปลี่ยนลวดจัดฟันจากลวดเล็กเป็นลวดเบอร์ใหญ่ที่สุด ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนลวดจะมีอาการเจ็บ หรือตึงที่ฟันประมาณ 3 – 4 วัน
- หลังจาก 6 เดือนแรก จะมีการดึงฟันเขี้ยวเข้ามาก่อน โดยจะใช้เวลาในช่วงนี้ตั้งแต่หลายเดือนจนถึงปีจึงจะเข้าที่
- เมื่อเขี้ยวเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว จะเริ่มปิดช่องฟันโดยทำการรวบฟัน 4 ซี่หน้าให้ชิดกัน ใช้เวลาเกือบปีจึงจะเข้าที่
- เมื่อฟันชิดกันทุกตำแหน่งแล้ว จะต้องทำการคงสภาพฟันไว้แบบนั้นประมาณ 4 – 6 เดือน เพื่อให้กระดูกบริเวณรอบ ๆ ฟันแต่ละซี่แข็งแรง โดยในระยะนี้จะมีการแก้ไขฟันเฉพาะตำแหน่งที่ยังไม่สวยให้สวยขึ้นก่อนที่จะถอดเครื่องมือจัดฟันออก
- เมื่อฟันเข้าที่ในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว ก็จะเป็นช่วงระยะเวลาที่จะถอดเครื่องมือจัดฟันออก และเปลี่ยนมาใส่รีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟัน
- เมื่อจัดฟันเสร็จแล้ว ควรกลับมาตรวจสภาพฟัน ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของฟันที่จัด และทำการแก้ไขหากมีปัญหาเกิดขึ้น
การประเมินระยะเวลาในการจัดฟัน
การประเมินระยะเวลาในการจัดฟันนั้นเป็นการประเมินอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น ทันตแพทย์ไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ เพราะระยะเวลาในการจัดฟันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ได้แก่
- การตอบสนองต่อการรักษา การเจริญเติบโต และพัฒนาการของกระดูกขากรรไกรและใบหน้า
- ความร่วมมือในการรักษาของคนไข้ และการมาพบแพทย์ตามนัด
- อายุของคนไข้ หรือความรุนแรงของความผิดปกติของการเรียงฟัน
การเปลี่ยนแผนการรักษาขณะจัดฟัน
ในบางครั้งแผนการรักษาเบื้องต้นอาจต้องเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
- การตอบสนองต่อการรักษา
- ความร่วมมือในการรักษา (ใช้เครื่องมือตามที่ทันตแพทย์จัดฟันแนะนำ)
ซึ่งแผนการรักษา อาจเปลี่ยนจากไม่ต้องถอนฟัน เป็นต้องถอนฟัน หรือ จากการจัดฟันอย่างเดียวเป็นการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติระหว่างการจัดฟัน
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็ง, เหนียว และกรอบ ทั้งหลาย เช่น การเคี้ยวก้อนน้ำแข็ง ปลาหมึก ถั่ว ลูกอม ท้อฟฟี่ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง หรือหมากฝรั่ง เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดได้
- การรับประทานผัก ผลไม้ ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กพอดีคำ และเคี้ยวด้วยฟันกรามหลัง นอกจากนี้ควรเลือกรับประทานอาหารผักผลไม้ที่อ่อน ๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับเครื่องมือจัดฟัน
- ในระยะแรกของการจัดฟัน มักจะมีอาการเจ็บฟัน และอาจมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงไปเองในช่วงสัปดาห์ที่ 2 วิธีลดการระคายเคืองสามารถทำได้โดยนำขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์ทาปิดทับบริเวณเครื่องมือจัดฟันที่แหลมคม และการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยทำให้แผลภายในช่องปากหายได้เร็วขึ้น
- ถ้าลวดจัดฟันงอออกมาแทงริมฝีปากหรือกระพุ้งแก้ม ให้ใช้ของไม่มีคม เช่น ยางลบปลายดินสอ นำมาชุบแอลกอฮอล์และใช้กดดันปลายลวดเข้าไป
- แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเสร็ต เพื่อเป็นการลดการเกิดฟันผุในระหว่างจัดฟัน
- ในระหว่างการจัดฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน ทำความสะอาดฟัน และตรวจฟันผุทุก ๆ 6 เดือน
ความร่วมมือในการรักษาด้วยการจัดฟัน
สำคัญที่สุดในการจัดฟัน ได้แก่
- การรักษาความสะอาด
- การดูแลเครื่องมือไม่ให้หักหรืองอ
- การใช้เครื่องมือประกอบเพื่อช่วยในการรักษา เช่น ยางคล้องฟัน เครื่องมือโอบรัดศรีษะ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นการรักษาก็จะไม่มีวันเสร็จและอาจต้องถอดเครื่องมือออกทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จ
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดฟัน
- ฟันผุ เหงือกอักเสบ เกิดขึ้นได้เมื่อรักษาความสะอาดไม่ดีพอ ดังนั้นควรทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังทานอาหารเสร็จ หรือใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์วันละ 2 ครั้ง
- รากฟันละลาย การเคลื่อนฟันทุกครั้งจะมีแรงกดบนรากฟัน และจะเกิดการละลายของรากฟัน แต่เป็นไปในปริมาณน้อยมาก และไม่เป็นอันตรายใด ๆ ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบ ดังนั้นการป้องกันการละลายตัวของรากฟันคือพยายามให้การรักษาใช้เวลาสั้นที่สุด โดยมาตามนัดอย่างตรงเวลาทุกครั้ง ใช้เครื่องมือตามคำแนะนำ และรักษาความสะอาดในช่องปาก
- แผลในช่องปาก ให้ใช้ขี้ผึ้งตามคำแนะนำ ถ้าเจ็บมากให้ทายาที่แผลในปากได้
เลิกนิสัยที่มีผลต่อการสบฟันที่ผิดปกติ
แรงเพียงเบา ๆ ก็สามารถเคลื่อนฟันได้ และนิสัยที่ผิดปกติบางอย่างได้แก่
- การดูดนิ้ว
- การหายใจทางปาก
- การเอาลิ้นดุนฟันขณะกลืนน้ำลายหรือขณะพูด
- นิสัยชอบกัดเล็บ เป็นต้น
พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสามารถผลักฟันให้เคลื่อนที่ได้เช่นกัน ซึ่งจะมีผลต่อการสบฟันที่ผิดปกติในอนาคต งนั้นผลการรักษาการจัดฟันจะดีได้ ต้องเลิกนิสัยเหล่านี้ให้หมดเสียก่อน
อาการที่มักพบหลังจากติดเครื่องมือจัดฟันในระยะแรก
มักจะมีแผลเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งแผลดังกล่าวจะค่อย ๆ หายเองได้ภายใน 5 – 14 วัน ควรใช้ขี้ผึ้งเท่าเม็ดถั่วเขียว ปั้นเป็นท่อน ๆ มาปิดทับลวดจัดฟันบริเวณที่สัมผัสกับแผลเพื่อลดอาการระคายเคือง